ถานการณ์โรคโควิด-19 ของประเทศไทย ตั้งแต่จุดเริ่มต้นการระบาดเมื่อปี 2563 จนถึงปัจจุบัน ได้ผ่านการเปลี่ยนแปลงของไวรัสหลายระลอก
ยอดตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมกว่า 3.88 ล้านราย เสียชีวิตสะสม 2.6 หมื่นราย คลื่นไวรัสลูกใหญ่ เริ่มต้นในเดือนมกราคม 2565 ด้วยสายพันธุ์โอมิครอน เฉพาะระลอกนี้ ไทยพบผู้ติดเชื้อแล้ว 1.66 ล้านราย เสียชีวิต 4,385 ราย ทั้งยังมีการติดเชื้อรายใหม่ในตัวเลขที่พุ่งสูงวันละ 4-5 หมื่นราย อย่างต่อเนื่อง
ขณะที่อัตราการเสียชีวิตค่อยๆ ไต่ระดับขึ้นตามมาติดๆ จากหลักสิบเป็นหลักร้อยรายต่อวัน พร้อมทั้งยังมีสายพันธุ์ลูกผสม หรือไฮบริด “XE” ที่แน่ชัดแล้วว่าแพร่เชื้อได้เร็วขึ้นจริง แต่ยังไร้หลักฐานความดุดัน
ประเทศไทยผ่านบททดสอบปีใหม่ ตรุษจีน ได้อย่างปลอดภัย อัตราการเสียชีวิตไม่พุ่งสูงตามตัวเลขติดเชื้อใหม่ ประกอบกับอัตราการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เข็มกระตุ้นที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 33 ของประชากรที่ได้รับครบ 2 เข็ม
ขณะนี้มาถึงเทศกาลสงกรานต์ ปีนี้ต่างจากปีที่แล้วอย่างมากเพราะศูนย์บริหารสถานการณ์โรคโควิด-19 (ศบค.) เปิดไฟเขียวให้เดินทางข้ามจังหวัด เพื่อให้ชาวไทยได้กลับบ้าน พบปะกันในครอบครัวได้
แต่ยังขอให้ระมัดระวังตัวเองสูงสุด สวมหน้ากากอนามัย ตรวจหาเชื้อด้วย ATK ก่อนเดินทาง พร้อมกลับบ้านไปเชิญชวนญาติผู้ใหญ่ให้ไปรับวัคซีนเข็มกระตุ้นต่อเนื่อง ทั้งนี้ นักวิชาการ แพทย์หลายฝ่าย ได้ให้ความเห็นว่าสงกรานต์ปีนี้ ถ้าระวังไม่ดี อาจจะเห็นการติดเชื้อรายใหม่ทะยานขึ้นสูงหลักแสนรายที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นในไทยมาก่อน
กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โดย “นายอนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการ สธ. ได้ให้สัมภาษณ์ก่อนหน้านี้ว่า ปีที่ผ่านๆ มา พบว่าการเดินทางช่วงเทศกาลใหญ่สงกรานต์ ความเสี่ยงแพร่ระบาดเพิ่มขึ้น แต่หากปิดความเสี่ยงนี้ด้วยวัคซีน เพื่อลดความรุนแรงหรือเสียชีวิต และเพื่อให้ไทยหันหน้าเดินเข้าสู่โรคประจำถิ่น (Endemic) ฉะนั้น สงกรานต์ปีนี้ที่ไม่ได้จำกัดการเดินทาง โอกาสการติดเชื้อก็จะเพิ่มขึ้น แต่หลังจากนั้นทุกอย่างก็น่าจะดีขึ้น จึงต้องขอความร่วมมือจากทุกฝ่าย เพื่อให้เราก้าวข้ามความเสี่ยงที่สุดนี้ไป โดยจากสถิติ 2-3 ปีที่ผ่านมา เมื่อพ้นสงกรานต์ด้วยดี ก็จะยาวต่อเนื่องจนถึงปีหน้า จึงคาดว่าช่วง 8 เดือนนี้ จะมีการบริหารจัดการโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นเรื่อยๆ และเพื่อให้เราอยู่กับโควิด-19 ได้อย่างเข้าใจ
อย่างไรก็ดี “นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์” ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ได้วิเคราะห์สถานการณ์โควิด-19 ภายหลังสงกรานต์นี้ว่า สำหรับปีนี้อนุญาตเดินทาง เล่นน้ำได้พอสมควร แม้ไม่ใช่การสาดน้ำโครม แต่เชื่อว่าจะมีหลุดมาบ้าง ซึ่งเป็นส่วนที่ต้องเข้าไปกำกับ ดังนั้น สถานการณ์จะผ่อนคลายมากกว่าปีก่อน
“แต่ต้องให้เห็นข้อมูลว่า สงกรานต์ปีที่แล้วเรามีตัวเลขติดเชื้อไม่มาก และเป็นการระบาดสายพันธุ์อัลฟาต่อด้วยเดลต้า ฉะนั้น มาตรการควบคุมโรคยังเข้มงวด ร่วมกับโรคแพร่ไม่ไวเท่าโอมิครอน จำนวนเคสจึงอยู่ในวงจำกัด โดยสังเกตได้ว่าสถานการณ์หลังสงกรานต์จะเห็นตัวเลขติดเชื้อพุ่งจริงๆ ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2564 เข้าสู่ช่วงเดลต้า กรมควบคุมโรคจึงคาดการณ์ภาพการระบาดหลังสงกรานต์ปีนี้ไว้ในส่วนของผู้เสียชีวิตที่จะเห็นมากกว่า 100 รายต่อวัน ต่อเนื่อง แต่จะไม่เห็นทันที เพราะจะมีระยะที่เกิดอาการรุนแรงใน 14 วัน” นพ.จักรรัฐ
กล่าว และว่า แต่ปีนี้มีการระบาดมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เดือนมกราคมเป็นต้นมา ดังนั้น สถานการณ์ต่างจากปีก่อนแน่นอน เชื่อว่าตัวเลขหลังสงกรานต์จะเพิ่มขึ้นไม่มากจากสถานการณ์ปัจจุบัน ทั้งนี้ จุดสำคัญคือ การติดเชื้อจะเพิ่มขึ้นไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับกิจกรรมในแต่ละจังหวัด
นพ.จักรรัฐกล่าวว่า ปัจจุบันพื้นฐานการติดเชื้อแต่ละจังหวัดเริ่มต่างกัน ดังนั้น ผลลัพธ์หลังสงกรานต์ก็จะต่างกัน แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.จังหวัดที่การติดเชื้อเริ่มลดลง อาทิ ภูเก็ต เพชรบุรี ที่คาดว่าตัวเลขหลังสงกรานต์จะเพิ่มไม่มากกว่าในปัจจุบัน 2.จังหวัดที่ยังติดเชื้อสูงต่อเนื่อง ในจังหวัดใหญ่ๆ เช่น กรุงเทพมหานครและปริมณฑล กาญจนบุรี เชียงใหม่ เชียงราย พิษณุโลก นครสวรรค์ อุบลราชธานี อุดรธานี ขอนแก่น สุราษฎร์ธานี สงขลา นครศรีธรรมราช เป็นต้น มีความเสี่ยงสูงที่จะพบการติดเชื้อเพิ่มขึ้น และ 3.จังหวัดที่การติดเชื้อกำลังเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นจังหวัดรอง กลุ่มนี้มีความน่าเป็นห่วงว่า เมื่อติดเชื้อแล้วจะเพิ่มสูงขึ้นมาก อาจจะถึง 1 เท่า แต่ก็ยังไม่ถึงหลักพันรายต่อวัน
“หากเรากำกับความเสี่ยงในการเล่นน้ำ การรับประทานอาหารร่วมกันในร้านได้ ตัวเลขติดเชื้อจะไม่เพิ่มสูงมาก จะใกล้เคียงกับปัจจุบัน จึงต้องดูว่าแต่ละจังหวัดมีกิจกรรมมากน้อยอย่างไร โดยเฉพาะจังหวัดใหญ่ๆ ที่มีคนมาก และตัวเลขติดเชื้อทรงตัวมาตลอด” นพ.จักรรัฐกล่าวส่วนคำถามว่า เมื่อคนกรุงเทพฯเดินทางไปต่างจังหวัด เพียงไม่กี่วันในช่วงสงกรานต์ จะเป็นความเสี่ยงในการนำเชื้อเข้ามารวมในเมืองกรุงหรือไม่ นพ.จักรรัฐอธิบายว่า ความสำคัญใน
ส่วนนี้คือ มาตรการในจังหวัดใหญ่กลุ่มที่ 3 ที่ทรงตัวอยู่ แปลว่าดำเนินมาตรการได้ดี กรุงเทพฯรอบนี้ ตัวเลขจะขึ้นไม่มาก ในทางตรงกันข้าม หากมาตรการควบคุมทำได้ไม่ดีนัก เช่น ปาร์ตี้ รับประทานอาหารร่วมกันในจังหวัดใหญ่ ก็จะเห็นการติดเชื้อเพิ่มสูงได้
นพ.จักรรัฐกล่าวว่า มาตรการหลักสำคัญที่อยากแนะนำองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนควรปฏิบัติ คือ หลังจากพนักงานหยุดสงกรานต์เดินทางไปต่างจังหวัด เมื่อกลับมาทำงานแล้ว ควรให้พนักงานเหล่านั้นทำงานจากที่บ้าน (Work From Home) 5-7 วันก่อน พร้อมให้ตรวจ ATK ก่อนกลับเข้าทำงานวันแรก เพื่อสร้างความมั่นใจว่าเราจะไม่นำเชื้อกลับเข้ากรุงเทพฯ จนทำให้ติดเชื้อไปมากกว่าที่เป็นอยู่ ซึ่ง ณ ขณะนี้วันละประมาณ 3,000 ราย
“อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เน้นย้ำมาเสมอในการลดอัตราเสียชีวิตของผู้ติดเชื้อโควิด-19 คือ การฉีดวัคซีนในกลุ่ม 608 โดยเฉพาะเข็มกระตุ้น ที่ขณะนี้ฉีดได้เพียง ร้อยละ 37 จากเป้าหมาย ร้อยละ 60 จึงจะเรียกได้ว่ามีความปลอดภัย ย้ำว่า การติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น ยังไม่น่าห่วงเท่าการนำเชื้อไปสู่ผู้สูงอายุในบ้าน ซึ่งก่อนหน้านี้อาจจะป้องกันได้ดี แต่หากติดเชื้อมากขึ้น ก็อาจจะหลบเลี่ยงได้ยาก แต่กลุ่ม 608 ในพื้นที่กรุงเทพฯฉีดวัคซีนไปได้ครอบคลุมแล้ว ฉะนั้น อัตราการป่วยตายก็จะเพิ่มขึ้นไม่มาก” นพ.จักรรัฐกล่าว
เมื่อถามว่า หากติดเชื้อเพิ่มขึ้นระบบสาธารณสุขรองรับอย่างไร นพ.จักรรัฐกล่าวว่า สำหรับการเสียชีวิตจากโควิด-19 เราเคยเห็นตัวเลขสูงถึงวันละ 300 ราย ซึ่งเมื่อดูตัวเลขสำคัญก่อนที่จะเสียชีวิต คือ ผู้ที่มีปอดอักเสบและใส่ท่อช่วยหายใจ
ขณะนี้ผู้ป่วยปอดอักเสบอยู่ที่ 1,800 ราย และใส่ท่อช่วยหายใจ 700-800 ราย ยังห่างจากตัวเลขที่เคยพบสูงสุดในระลอกเดลต้า ที่พบผู้ป่วยปอดอักเสบถึง 6,000 ราย
ใส่ท่อช่วยหายใจอีกเกือบ 1,500 ราย
หลังสงกรานต์ก็อาจจะเพิ่มขึ้นมาราวร้อยละ 20-30 แต่จะไม่ถึงพีคที่สุดแน่นอน
นอกจากนั้น ยังมีระบบการรักษาแบบผู้ป่วยนอก (OPD) และรักษาที่บ้าน (Home Isolation) ก็จะเข้ามาช่วยได้มากขึ้น ลดความหนาแน่นในสถานพยาบาลได้
“สิ่งที่จะทำให้เราผ่านช่วงเวลาเสี่ยงนี้ไปด้วยดี คือ “2U” ด้วย Universal Prevention และ Universal Vaccination เป็นการฉีดวัคซีนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แม้จะผ่านช่วงสงกรานต์ไปแล้ว แต่ก็สามารถดำเนินการได้ต่อเนื่อง เป้าหมายการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นภาพรวมทั่วประเทศ ต้องถึงร้อยละ 80 และครอบคลุมกลุ่มสูงอายุมากกว่า 60 ปี ต้องได้ถึงร้อยละ 60 เพื่อก้าวสู่โรคประจำถิ่นต่อไป” นพ.จักรรัฐกล่าว
สำหรับประเทศไทยที่กำลังเดินหน้าสู่โรคประจำถิ่น โดยมีเทศกาลสงกรานต์เป็นตัวชี้ทิศทาง นพ.จักรรัฐได้ให้ความเห็นว่า การนับจำนวนผู้ติดเชื้อเป็นสิ่งที่หลายประเทศลดความสำคัญลงแล้ว แต่จะไปเพิ่มในข้อมูลการเสียชีวิตที่มาจากโควิด-19 จริงๆ ไม่ใช่การเสียชีวิตจากปัจจัยอื่น
ดังนั้น ไทยเราหากตัวเลขนี้ลดลงเหลือวันละ 20-30 รายได้ ก็จะเป็นช่วงเวลาของระยะหลังการระบาดใหญ่ (Post Pandemic) อย่างไรก็ตาม การติดตามข้อมูลผู้ติดเชื้อ
โควิด-19 อาจจะเห็นการขึ้นลงทุกวัน
คำแนะนำในการประเมินสถานการณ์ต่างๆ จึงใช้ข้อมูลย้อนหลัง 7 วัน และมุ่งเน้นในกลุ่มผู้ที่ใส่ท่อช่วยหายใจและปอดอักเสบมากกว่าการติดเชื้อใหม่ ที่ส่วนใหญ่อาการน้อยหรือแทบไม่มีอาการเลย
และยังคงเน้นย้ำเรื่องการป้องกันตัวเอง ไม่ให้ติดเชื้อและการนำผู้ใหญ่ในครอบครัวเข้ารับวัคซีนให้ครบถ้วน ซึ่งสามารถติดต่อได้ใกล้บ้านตั้งแต่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ
ตำบล (รพ.สต.) ทุกแห่ง หรือติดต่ออาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่คอยให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด
ที่มา : www.matichon.co.th
เกาะติดข่าวที่นี่
Website : www.chemgenehld4h.com
Facebook : enrichfogger
Line : @enrichfogger
Youtube official : Enrichfogger Official Account
Tiktok : @enrichfog
บริษัท เอ็นริช ฟ็อกเกอร์ (ประเทศไทย) จำกัด
133 ถนนกรุงธนบุรี แขวงคลองต้นไทร เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร 10600
โทรศัพท์ : 02-439-7289
มือถือ : 099-126-7989
มือถือ : 089-680-9489
แอดไลน์ : @enrichfogger
อีเมล : enrichfogger@gmail.com
COPYRIGHT LICENSE © CREATE BY ENRICH FOGGER (THAILAND) COMPANY LIMITED, ALL RIGHT RESERVED.